ความเครียด ความเร่งรีบ ความกดดัน การแข่งขัน การเผชิญหน้า ฯลฯ สารพัดรูปแบบการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน ดูเหมือนจะทำให้หลาย ๆ คน กลายเป็นคนใจร้อน หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือเรียกให้อินเทรนด์เสียหน่อยว่า “หัวร้อน” ได้ง่ายขึ้น ยิ่งในโลกของการทำงานที่นำพาให้คนทำงานทุกคนต้องไปข้องเกี่ยวกับสารพัดเหตุการณ์เฉพาะหน้า หลากหลายอุปสรรคปัญหารายวัน อาการปรี๊ดแตกอาจมาเยือนได้ในที่สุด หากไม่อยากน็อตหลุดจนเพื่อนร่วมงานวงแตก หรือลุกลามไปจนถึงแตกหักกับเจ้านายหรือลูกค้า เราอยากให้คนทำงานหันมามีสติ รู้จักรับมือจัดการกับอารมณ์ด้านลบ เพื่อไม่ให้งานต้องสะดุด จนอาจเกิดผลเสียตามมาได้มากมายนับไม่ถ้วน
1. รู้เท่าทันอารมณ์ ใช้หลักสติมาปัญญาเกิด เริ่มจากตระหนักรู้อารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น สังเกตอารมณ์ ความคิด และร่างกายของเราว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ให้เกิดการรู้ตัวอยู่ทุกขณะจิต
2. ยอมรับความโกรธที่เกิดขึ้น ง่าย ๆ แค่ยอมรับว่ากำลังโกรธ ไม่คิดหาสิ่งอื่นมารองรับความโกรธของตัวเรา เพราะยิ่งโทษสิ่งแวดล้อม หรือโทษบุคคลอื่น ก็ไม่ช่วยให้ความโกรธลดลง ทำใจให้นิ่ง แล้วแยกแยะให้ได้ถึงสาเหตุของความโกรธ เพื่อเตรียมตัวเองไปสู่การรับมือแก้ปัญหาในลำดับถัดไป
3. cool down หายใจเข้าออกลึก ๆ หลายครั้งที่เวลาโกรธ เรามักหลุดปากสวนคำพูดอะไรบางอย่างออกมาโดยไม่ได้คิด ให้หยุดตัวเองไว้ก่อน ผ่อนคลาย หายใจเข้าออกลึก ๆ นับ 1-10 ซื้อเวลา พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้น และห้ามตัวเองไม่ให้พูดอะไรที่อาจทำให้รู้สึกเสียใจภายหลัง
4. ช้า ๆ อย่าใจร้อน เมื่อปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล อารมณ์โกรธก็จะเข้ามาควบคุมการกระทำทุกอย่าง เกิดอาการหุนหันพลันแล่น ทำอะไรออกไปโดยไม่ยั้งคิด จนเหตุการณ์อาจลุกลามรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น เมื่อรู้ตัวว่าโกรธ ให้ลองทำอะไรให้ช้าลง เดินช้าลง พูดช้าลง กลั่นกรองทุกคำจากสมอง หากตรองดูแล้วว่าพูดไปไม่เกิดผลดีกับใคร ให้หยุดคำพูดนั้นซะ
5. ค่อย ๆ พูด โดยใช้ประโยคที่สุภาพ ตั้งสติได้แล้ว ให้พูดคุยกับคู่สนทนาด้วยเหตุและผล บอกว่าตัวเราคิดอย่างไร ด้วยประโยค “ดิฉัน/ผมคิดว่า…” หรือ “ดิฉัน/ผมอยากเสนอว่า…”
6. เอาใจเขามาใส่ใจเรา คนที่กำลังโกรธมักนึกถึงแต่ตัวเอง โดยไม่สนใจใครหน้าไหนทั้งสิ้น นอกจากไม่สนใจคู่กรณีว่าเขามีเหตุผลใดในความขัดแย้งนี้แล้ว ยังลืมนึกถึงคนรอบข้างที่จะได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจจากการเหวี่ยงวีนของเรา อย่าหาข้ออ้างในการแสดงความโกรธ หยุดโทษผู้อื่น เมื่อรู้ตัวว่าเรากำลังแสดงอารมณ์โกรธในที่ทำงาน ให้ตระหนักว่านั่นเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ต้องลด ละ เลิก เบรกตัวเองไว้บ้าง เพื่อบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
7. ปลีกตัวออกจากสถานการณ์นั้น หากรู้สึกทนไม่ไหวจริง ๆ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ให้ตัดบทขอตัวคู่สนทนา ว่าขอคุยเรื่องนี้เพียงเท่านี้ก่อน พาตัวเองออกจากสถานการณ์ตึงเครียดนั้น เพราะการออกจากห้องสี่เหลี่ยมจะช่วยให้ตัวเราได้ผ่อนคลายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ช่วยลดความเครียด ทำใจให้เย็นลง ก่อนกลับมาเผชิญกับปัญหาด้วยอารมณ์ที่นิ่งขึ้น
8. ปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด แทนที่จะยึดติดอยู่กับอารมณ์โกรธ ให้หาทางออกด้วยการคิดแบบใดก็ได้ที่ทำให้ความโกรธลดน้อยลง หรือคิดข้าม shot ไปสู่การแก้ปัญหาจากความขัดแย้ง หลาย ๆ ครั้ง ในมุมไม่ดีก็ยังมีสิ่งดีซ่อนอยู่ ความขัดแย้งบางครั้งก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การสร้างสรรค์ และการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เช่นกัน
9. รู้อภัย มองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้อารมณ์ขุ่นมัว หากเราทำใจให้อภัยได้ก็อาจทำให้อะไร ๆ ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว จากการที่เราปล่อยผ่าน แก้ไข แล้วจบ จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่นในชีวิต
10. เพิ่มพลังด้านบวก หากวันนั้นเป็น bad day ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องเติมเต็มกำลังใจให้ตัวเอง ด้วยการพูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือคนสำคัญในชีวิต ช่วยสร้างกำลังใจได้เมื่อต้องพบเจอกันสถานการณ์ที่ยากลำบากในการทำงาน เป็นการใช้พลังด้านบวกมาเอาชนะพลังด้านลบในตัวนั่นเอง
11. ทำตัวเป็นมืออาชีพ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาท้าทายความสามารถในการรับมือจัดการกับปัญหาของเรา ก็คือบทพิสูจน์ว่าเราจะเป็นคนทำงานมืออาชีพของสายงานนี้ได้หรือไม่ คอยเตือนตัวเองเสมอว่าการแสดงความโกรธเป็นตัวบั่นทอนความก้าวหน้า และคนที่จะประสบความสำเร็จได้ก็คือคนที่มีความเป็นมืออาชีพสูงเท่านั้น
12. ทำใจให้นิ่ง ฝึกตัวเองให้เป็นคนอดทน ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มีสติทุกครั้ง จิตใจมั่นคง เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่หงุดหงิดตอนรถติด ไม่หัวเสียกับสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ หรือจะลองติดข้อความเตือนใจไม่ให้เป็นคนหัวร้อนไว้ตามที่ต่าง ๆ รอบตัว เช่น โต๊ะทำงาน หน้าจอคอมพิวเตอร์ บนกระจกแต่งตัว ฯลฯ ก็ช่วยเรียกสติให้กลายเป็นคนใจเย็นลงได้ไม่น้อย
ความโกรธก็เป็นแค่อารมณ์หนึ่งในชีวิตที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเป็นปกติธรรมดา แต่เมื่อเกิดอารมณ์โกรธแล้ว ต้องมีสติ รู้เท่าทัน รับมือจัดการอย่างชาญฉลาด อย่าปล่อยให้อารมณ์พาเราไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้าย ใส่ใจผู้อื่นให้มากขึ้น เพื่อลดอารมณ์ด้านลบในตัวเรา อย่าลืมว่าบรรยากาศดี ๆ ในที่ทำงาน เราช่วยกันสร้างได้ จะได้ทำงานอย่างมีความสุขและสนุกกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้ชีวิตการทำงานของเราดีขึ้นกว่าเดิม
แหล่งข้อมูล : manager.co.th, impressionconsult.com