แม้การมีวุฒิการศึกษาสูงๆ ติดตัวจะทำให้ดูโดดเด่นจากฝูงชนอยู่บ้าง แต่สิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญมากกว่าผลการเรียนคือประสบการณ์ทำงาน สำหรับนักศึกษาที่กำลังร่ำเรียนอยู่อาจบ่นว่าเพิ่งจบใหม่ๆ จะเอาประสบการณ์ทำงานมาจากไหนล่ะนะ? มาฟังคำแนะนำเหล่านี้กันเลย
1. สามารถพัฒนาทักษะ Transferable Skills
Transferable Skills คือทักษะที่ถ่ายทอดมาจากงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำ เป็นทักษะที่นายจ้างแสวงหาอย่างมาก
ซึ่งไม่ว่าการฝึกงานระยะสั้นหรือการฝึกงานระยะยาวต่างทำให้เราได้เรียนรู้ทักษะ Transferable Skills อย่างเช่น การสื่อสารและการเป็นผู้นำ
ซึ่งทักษะเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางวัฒนธรรมสำหรับบริษัทหรือสภาพแวดล้อมการทำงาน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่คุณสามารถทำให้องค์กร นอกจากนี้ยังทำให้ CV ดูดีขึ้นแม้จะขาดประสบการณ์ทำงานจากโลกแห่งความเป็นจริงก็ตาม
2. ช่วยให้ตรวจสอบสิ่งต่างๆ ได้ละเอียดขึ้น
หนึ่งในคุณสมบัติดีงามของประสบการณ์ทำงาน คือช่วยให้คุณตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ก่อนที่จะทุ่มเททั้งกายและใจให้กับบทบาทหน้าที่ในองค์กร
ประสบการณ์ที่ผ่านมาจึงสามารถช่วยตรวจสอบและตัดสินใจหากในการอนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่การงานขึ้น และยิ่งรู้ใจตัวเองเร็วขึ้นด้วยว่าเส้นทางอาชีพใดที่เหมาะกับเรา ความพึงพอใจก็จะเป็นของเราเอง
3. เพิ่มโอกาสในการได้งาน
ยกตัวอย่าง นักศึกษาจบใหม่สองคนเดินมาสมัครงาน โดยในเรซูเม่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน จบจากสถาบันเดียวกัน แต่ข้อแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือมีคนหนึ่งที่เคยผ่านการฝึกงานแบบไม่ได้ค่าจ้าง และทันใดนั้นเองผู้สมัครคนนี้จะดูน่าสนใจมากขึ้นในสายตากรรมการ
ฉะนั้นการมีประสบการณ์ทำงานไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม เป็นการแสดงให้นายจ้างเห็นว่าคุณมีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองและพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะช่วยเพิ่มความสามารถในขั้นตอนการจ้างงานนี้มากขึ้่น
4. นำไปสู่การทำงานแบบเต็มเวลา
หนึ่งในประโยชน์จากประสบการณ์ทำงานหรือฝึกงานคือปูทางไปสู่การได้รับเสนอให้เข้าทำงานแบบเต็มเวลา หากคุณประพฤติตนได้ดีในบทบาทของการทำงาน
บริษัทก็มีความเต็มใจรับคนที่ทราบหน้าที่และข้อมูลองค์กรดีอยู่แล้ว เข้ามาเป็นพนักงานอย่างเต็มรูปแบบ ดีกว่าการที่ต้องฝึกคนใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น
5. นำคุณเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน
อีกหนึ่งข้อดีของประสบการณ์การทำงานที่ส่งผลดีต่ออาชีพในระยะยาวคือ การเปิดโอกาสให้คุณได้เรียนรู้ทักษะและกระบวนการต่างๆ ที่สามารถเรียนรู้ได้ในสถานที่ทำงานเท่านั้น
รับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่คนทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอย่างไร ซึ่งทำให้คุณชินก่อนออกจากการเป็นนักศึกษาและไปเป็นพนักงานแบบเต็มเวลา
นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีที่ดีในการทำความเข้าใจในการทำงานและเรียนรู้สิ่งที่ควรปฏิบัติและสิ่งที่ไม่ควรทำในสถานที่ทำงาน
6. มีสายสัมพันธ์กว้างขวางขึ้น
เครือข่ายผู้คนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คุณหางานทำได้ ในตำแหน่งงานนั้นๆ คุณจะได้พบปะและทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คน ซึ่งคนเหล่านี้แหละที่สามารถทำอะไรได้มากกว่าเพียงแค่แสดงให้เห็นข้อมูลขององค์กร
แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถช่วยคุณหางานได้ แต่คุณก็ยังสามารถศึกษาแบบอย่างจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เหล่านี้
แต่จำไว้ว่าการสร้าง (และการรักษา) เครือข่ายผู้คนไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่คนอื่นๆ สามารถทำเพื่อคุณเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดกว้างและเต็มใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นกลับด้วยเช่นกัน!
ขอขอบคุณบทความจาก arisjk